โรคฟันผุ ในภาษาทางการแพทย์ คือ การเลื่อมสลายของฟัน ซึ่งรวมถึงโครงสร้างผิว เคลือบฟัน รวมถึงเนื้อฟัน
โรคฟันผุเกิดขึ้นได้อย่างไร
โรคฟันผุเกิดจากแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในช่องปากรวมตัวกับเศษอาหารและน้ำลายสะสมกันจนเป็นคราบเหนียวที่เรียกว่า คราบฟัน หรือคราบแบคทีเรีย ซึ่งจะเกาะอยู่บนผิวของฟันแบคทีเรียเหล่านี้จะเปลี่ยนสภาพน้ำตาลและแป้งให้เป็นกรด มีฤทธิ์ทำลายแร่ธาตุที่ผิวฟัน จนก่อให้เกิดเป็นรู โดยเริ่มจากขนาดเล็กมากๆ ลุกลามใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นโรคฟันผุ
ใครบ้างที่เสี่ยงต่อโรคฟันผุ
โรคฟันผุมักจะพบได้บ่อยในเด็ก แต่ผู้ใหญ่ก็มีความเสี่ยงด้วยเช่นกัน โดยมีปัจจัยเหล่านี้เป็นส่วนประกอบ
– การบริโภคอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต (แป้งและน้ำตาล)
– การดื่มน้ำที่ไม่มีฟลูออไรด์เป็นส่วนประกอบ
– อาการปากแห้ง
– การใช้ยาบางชนิด
– การดูแลรักษาความสะอาดช่องปากอย่างไม่ถูกสุขลักษณะ
ส่วนใดของฟันที่พุได้ง่ายที่สุด
อาการฟันผุมักเกิดใน 3 ตำแหน่งดังนี้
1. อาการฟันผุบริเวณพื้นเคลือบฟันที่ใช้ในการบดเคี้ยว เพราะคราบแบคทีเรียซึ่งมักติดอยู่ตามร่องฟัน มักพบบ่อยในเด็กเนื่องจากการละเลยการแปรงฟันในบริเวณนี้
2. อาการฟันผุระหว่างซอกฟัน เพราะเป็นบริเวณที่ยากต่อการเข้าถึง ซึ่งไม่สามารถทำความสะอาดได้ด้วยการแปรงฟันเพียงอย่างเดียว
3. อาการฟันผุที่บริเวณรากฟัน เกิดขึ้นจากภาวะเหงือกร่น หรือการสูญเสียของกระดูกฟันอันมีสาเหตุอันสืบเนื่องมากจากโรคเหงือก หรือโรคปริทันต์อักเสบ
อาการบ่งชี้ของโรคฟันผุมีอะไรบ้าง
ฟันผุอาจเกิดขึ้นกับฟันครั้งละหนึ่งซึ่หรือมากกว่านั้นได้ อาการที่พบบ่อยได้แก่
– มีการพบรูหรือรอยผุที่ฟัน
– มีอาการเสียวฟันมากขึ้น (เมื่อดื่มหรือรับประทานอาหารหวาน ร้อนจัด หรือเย็นจัด)
– มีอาการปวดฟัน
– มีเศษอาหารติดบริเวณซอกฟันบ่อยครั้งขึ้น
ระดับความรุนแรงของโรคฟันผุ
1. การเกิดคราบขาวแบคทีเรียจะทำปฏิกิริยากับแป้งหรือน้ำตาล ก่อให้เกิดกรดที่สามารถทำลายผิวเคลือบฟัน เป็นจุดเริ่มต้นของการสูญเสียแร่ธาตุ (แคลเซียม) ซึ่งจะปรากฎให้เห็นเป็นคราบสีขาวขุ่นที่ฟัน ระยะนี้ยังสามารถรักษาได้โดยง่าย
2. การผุที่ผิวเคลือบฟัน (enamel) การสูญเสีย แคลเซียมดำเนินต่อไปจนมี การเสื่อมสลายของผิวเคลือบฟัน ระยะนี้ควรได้รับการดูแลรักษาโดยทันตแพทย์
3. การผุที่เนื้อฟัน (dentin) การผุจากผิวเคลือบฟันลุกลามลึกเข้าไปถึงเนื้อฟัน ซึ่งสามารถขยายการผุไปยังฟันซีอื่นๆ ได้
4. การผุลุกลามไปยังโพรงประสาทฟัน (dental pulp) หากอาการฟันผุไม่ได้รับการรักษา การผุจะลุกลามลึกไปถึงโพรงประสาทฟัน ซึ่งเป็นแหล่งรวมของเส้นประสาทมากมาย และหากโพรงประสาทฟันเกิดการติดเชื้ออาจเกิดฝีที่ปลายรากฟันได้
การรักษาโรคฟันผุทำอย่างไร
– ขั้นพื้นฐาน จะรักษาโดยการอุดฟัน ทันตแพทย์จะสกัดฟันเฉพาะส่วนที่ผุออก (อาจมีการใช้ยาชาเพื่อป้องกันความเจ็บปวดก่อน) และตามด้วยการใช้วัสดุในการอุดฟัน
– หากการผุขยายพื้นที่มากขึ้น และมีการเน่าเสียของฟันที่รุนแรง จนไม่สามารถอุดฟันได้ ทันตแพทย์จะรักษาโดยการสกัดฟันเฉพาะส่วนที่ผุออก แล้วตามด้วยการครอบฟัน
– หากการผุของฟันลามลึกไปถึงส่วนในของฟัน ทันตแพทย์จะทำการรักษารากฟัน โดยการทำความสะอาดโพรงประสาทฟันที่มีการติดเชื้อให้เรียบร้อย หลังจากนั้นจะทำการอุดฟัน และครอบฟันเป็นขั้นตอนสุดท้าย